คุณธรรมของคุณครู
ที่ควรมีตามคำแนะนำของนักบุญยอห์น แบพติสท์ เดอ ลาซาล
+ + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + +
ในฐานะที่เราเป็นครูผู้ให้การศึกษาแก่เยาวชน เรามีความรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่ในการที่จะให้ความรู้แก่นักเรียน เพื่อพวกเขาจะได้มีพื้นฐานวิชาการที่ดี รวมถึงการอบรมคุณธรรมที่จะต้องกระทำควบคู่กันไป การเป็นผู้ให้การศึกษาที่ดีนั้น เราจะต้องมีจิตตารมณ์แห่งการเป็นครูจริง ๆ
ท่าน นักบุญยอห์น แบพติสท์ เดอ ลาซาล องค์อุปถัมภ์ของครู ผู้ซึ่งมีประสบการณ์ในด้านการสอน มีวิสัยทัศน์ในด้านการสอน การอบรม มีประสบการณ์เกี่ยวกับผู้ให้การศึกษาเป็นอย่างดีและที่สำคัญท่านเข้าใจในธรรมชาติของนักเรียน ท่านจึงได้เขียนแนวทางในการปฏิบัติตนของครู ในการที่จะเป็นครูที่ดี ที่เราเรียกว่า “คุณธรรม 12 ประการ” เพื่อให้ครูผู้อุทิศตนทางการศึกษา ได้ศึกษาค้นคว้าและนำมาปรับใช้ในชีวิตความเป็นครู
เนื้อหานี้เป็นสรุปย่อคุณธรรม 12 ประการ ของท่าน นักบุญยอห์น แบพติสท์ เดอ ลาซาล เพื่อคุณครูนำไปปฏิบัติในชีวิตของการเป็นครูที่ดี และในโอกาสดีฉลอง 60 ปี ของคณะภราดาลาซาล ที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย จึงขอรณรงค์ให้กับครู ได้นำคำแนะนำต่าง ๆ นี้ ไปปรับใช้ในชีวิตของการเป็นครูที่ดี ดังนี้
คุณธรรมข้อที่ 1 ความสง่าน่าเกรงขาม (Gravity) หรือ ความเอาจริงเอาจัง (Seriousness)
คุณธรรมข้อที่ 2 ความเงียบ (Silence)
คุณธรรมข้อที่ 3 ความถ่อมตน (Humility)
คุณธรรมข้อที่ 4 ความรอบคอบ (Prudence)
คุณธรรมข้อที่ 5 ปรีชาญาณ (Wisdom)
คุณธรรมข้อที่ 6 ความอดทน (Patience)
คุณธรรมข้อที่ 7 การรู้จักวางตัว (Reserve)
คุณธรรมข้อที่ 8 ความอ่อนโยน (Gentleness)
คุณธรรมข้อที่ 9 ความกระตือรือร้น (Zeal)
คุณธรรมข้อที่ 10 การระวังตัว (Vigilance)
คุณธรรมข้อที่ 11 ความเลื่อมใสศรัทธา (ต่อพระ) (Piety)
คุณธรรมข้อที่ 12 ความใจกว้าง (Generosity)
+ + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + +
คุณธรรมข้อที่ 1 ความสง่าน่าเกรงขาม (Gravity) หรือ ความเอาจริงเอาจัง (Seriousness)
ความสง่าน่าเกรงขาม เป็นคุณธรรมที่กำหนดหรือควบคุมจากภายในจิตใจของครู
ครูที่มีคุณสมบัติประการนี้จะวางตัวปกติธรรมดาไม่วางท่า พูดไม่ส่ายหน้า แต่จะมองผู้ฟังด้วยความมั่นใจ และสำรวมกิริยา ไม่เสแสร้งหรือวางท่าเคร่งขรึม มีท่าทีเป็นมิตร พูดกระชับไม่เยิ่นเย้อ ไม่ใช้คำพูดเสียดสี หยาบคาย หรือคำพูดที่ทำให้ผู้ฟังขุ่นเคืองใจ
ท่านเชื่อมั่นว่า ความสง่าน่าเกรงขาม ความสุภาพและคำพูดที่พอเหมาะ ควรเป็นคำพูดที่อ่อนโยน เป็นมิตร และรักใคร่เมตตา คุณสมบัติดีที่น่าชื่นชมทั้งหลายนี้จะสร้างความสัมพันธ์ที่ดี เพราะการทำเช่นนี้เป็นแรงจูงใจนักเรียนให้สนใจวิชาที่ครูผู้นั้นสอนมากขึ้น ทั้งนี้ มิได้หมายถึงการที่ครูจะปล่อยตัวหรือให้ความสนับสนุนใกล้ชิดกับนักเรียนคนใดคนหนึ่งเป็นพิเศษ
ครูควรสร้างความเชื่อมั่นแก่นักเรียน ด้วยการพยายามค้นหาคุณสมบัติที่ดีในตัวนักเรียน เพื่อพัฒนาและปรับปรุงพฤติกรรมเหล่านี้ และวิธีที่ง่ายคือการวิเคราะห์ความผิดพลาดและข้อบกพร่องของพวกเขา เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงให้ดีขึ้นเท่าที่เวลาและศักยภาพของครูอำนวย
นักเรียนจะไม่เชื่อฟังคำสั่งสอนของครูที่พวกเขาไม่เลื่อมใสและนับถือ ครูจึงไม่ควรลืมหน้าที่การเป็นแบบอย่างที่ดีในคุณธรรมประการต่าง ๆ แก่นักเรียน ครูพึงมีท่าทีสุภาพและใส่ใจ ไม่ทำตัวเหลาะแหละและไม่จริงจัง
คุณธรรมข้อที่ 2 ความเงียบ (Silence)
คุณธรรมนี้ประกอบด้วยคุณลักษณะ 2 ประการ ได้แก่ ศิลปะของการเงียบและจังหวะที่ดีของการพูด ประโยชน์ของความเงียบทำให้เกิดระเบียบและความสงบในห้องเรียน
หากครูพูดมากเกินไป ก็จะเป็นแบบอย่างให้นักเรียนทำตามครู ครูและนักเรียนก็จะพูดโต้ตอบกันไปมาอย่างไร้สาระ
นักเรียนมักไม่ฟังครูที่พูดมากเกินไป ทั้งยังไม่ค่อยเชื่อถือในสิ่งที่เขาพูดมากนัก แต่หากครูพูดน้อย และพูดเฉพาะในสิ่งที่มีสาระ นักเรียนมักจะสนใจ ชื่นชอบ จดจำ และได้ประโยชน์ในสิ่งที่ครูผู้นั้นพูด
ครูที่ดีควรระวังข้อบกพร่องในเรื่องความเงียบ ดังนี้
1. พูดโดยไม่จำเป็น หรือเงียบในขณะที่จำเป็นจะต้องพูด
2. แสดงความคิดเห็นได้ไม่ชัดเจนพอเมื่อพูด เพราะไม่ทราบหัวข้อที่จะพูดล่วงหน้า
3. ใช้เวลาในการพูดนานเกินควรกับนักเรียนคนใดคนหนึ่ง
คุณธรรมข้อที่ 3 ความถ่อมตน (Humility)
ความถ่อมตน เป็นคุณธรรมที่ผู้มีคุณสมบัตินี้สำรวมตนเอง และแสดงฐานะหรือความรู้ความสามารถต่ำกว่าที่เป็นจริง
การถ่อมตน ช่วยเราให้รู้จักตัวเราอย่างที่เป็น ความถ่อมตนจึงเป็นสิ่งตรงกันข้ามกับความหยิ่ง ซึ่งทำให้เราประเมินค่าของตัวเองสูงกว่าความเป็นจริงโดยไม่เที่ยงธรรม
ลักษณะที่แท้จริงของความถ่อมตน
1. ความถ่อมตนของครูที่ดีคนหนึ่ง จะต้องเป็นแบบอย่างคริสตชน เขาจึงมีหน้าที่รักเพื่อนพี่น้อง ไม่เพียงแต่ผู้บังคับบัญชา แต่รวมถึงเพื่อนร่วมงานและผู้อาวุโสน้อยกว่าเขาด้วย ผู้บริหารที่มีตำแหน่งสูงกว่าบุคคลอื่น ๆ พึงระมัดระวังในการวางตัวให้เที่ยงธรรม ไม่ควรคิดว่าบุคคลอื่นจะต้องคอยบริการในบางเรื่องที่ตนสามารถทำได้ด้วยตนเอง ครูที่ดีจะต้องมีความรู้สึกถ่อมตนเอง รู้ถึงข้อจำกัดของตนเอง
2. ความถ่อมตน เป็นคุณสมบัติควบคู่ไปกับความสุภาพและความเรียบง่าย เช่น ถ้าครูคนหนึ่งมีความสามารถพิเศษในเรื่องใดก็ตาม เขาไม่จำเป็นต้องแสดงท่าโอ้อวด หยิ่งยโสหรือยกตนข่มท่าน ครูไม่ควรนำความดีความชอบจากการกระทำของผู้อื่นมาเป็นของตน
3. ความถ่อมตน ย่อมไม่แฝงไว้ด้วยความทะเยอทะยานมักใหญ่ใฝ่สูง ครูไม่แสวงหาตำแหน่งหรือหน้าที่สูง ครูจะไม่เจาะจงอยากจะสอนห้องนี้ ไม่สอนห้องนั้น แต่จะคิดว่าห้องที่ตนได้รับมอบหมายให้สอนดีกว่าห้องอื่น ๆ หมด
4. ความถ่อมตน ทำให้เราอิจฉาคนอื่นน้อยลง เขาจะชื่นชมยินดีที่เห็นเพื่อนร่วมงานมีความสามารถทัดเทียมหรือเหนือกว่าตนในงานการสอน
5. ความถ่อมตน ช่วยครูให้ยินดีแบ่งปันความรู้ให้แก่ผู้มีความรู้น้อย
6. ความถ่อมตนของครูที่ดี ทำให้ครูไม่หนีจากสิ่งใดต่ำต้อย เขาจะยินดีรับงานเหล่านั้นด้วยความเมตตาและอ่อนโยน และจะไม่แสดงความไม่พอใจ เขาอดทนต่อข้อบกพร่องซึ่งเป็นธรรมชาติของนักเรียน ความหยาบคาย การขาดทักษะและข้อบกพร่องในลักษณะนิสัย
7. ความถ่อมตน ทำให้ครูที่ดีปฏิบัติต่อเพื่อนร่วมงานที่มีฐานะเสมอตนเองและผู้ที่อาวุโสน้อยกว่าตนอย่างเท่าเทียมกัน
8. ความถ่อมตน ทำให้ครูทีดีอดทนโดยไม่เสียใจหากเกิดจากความเข้าใจผิด ข้อผิดพลาดและการไม่สบความสำเร็จของตน
9. ความถ่อมตน ทำให้ครูที่ดีเป็นผู้มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เป็นมิตร และเต้ฒใจให้ความช่วยเหลือผู้อื่น เป็นผู้ที่ใคร ๆ อยากเข้าใกล้ เป็นต้น คนยากจนหรือผู้ที่ดูไม่น่าสนใจที่จะเกี่ยวข้องด้วย
คุณธรรมข้อที่ 4 ความรอบคอบ (Prudence)
ความรอบคอบ เป็นคุณธรรมที่ช่วยเราให้เข้าใจสิ่งที่เราจำเป็นต้องทำ และสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงที่จะกระทำ
ความรอบคอบ จึงเป็นตัวกำหนดการประยุกต์ใช้สติปัญญาและความคิดเพื่อเราจะไม่ต้องเสียใจในภาระหน้าที่หรือกิจกรรมที่ได้ทำ
เป้าหมายสำคัญของครูคือการอบรมสั่งสอนเด็ก ความรอบคอบของครูช่วยให้เขาได้เลือกวิธีการที่จะใช้เพื่อให้นักเรียนเจริญก้าวหน้าอย่างเหมาะสมทั้งด้านสติปัญญาและจิตใจ
ครูจะไม่สามารถบรรลุเป้าหมายในการอบรมนักเรียน หากครูไม่มั่นใจในวิธีการที่เลือกใช้เพื่ออบรมนักเรียนว่าเป็นวิธีที่ได้ผลแน่นอนและจะไม่ผิดพลาด ครูจะมั่นใจในเรื่องนี้ได้ก็ต่อเมื่อครูจะต้องแสวงหา ตรวจสอบ อภิปราย ถึงข้อดีข้อเสียและความเป็นไปได้ เพื่อให้เข้าใจวิธีการที่จะเลือกใช้อย่างแท้จริง
เพื่อที่จะเลือกใช้คุณธรรมของความรอบคอบให้ได้ผลเหมาะสม ครูควรพิจารณาใช้ร่วมกับองค์ประกอบสำคัญ ๆ ดังนี้
1. ความทรงจำ (Memory) ความรอบคอบเรียกร้องให้เรานำประสบการณ์ในอดีตมาใช้กับเหตุการณ์ในอนาคต เพราะไม่มีอะไรแน่นอนมากกว่าสิ่งที่ได้เกิดขึ้นจริงแล้ว ครูที่ดีจึงใช้ประโยชน์จากสิ่งที่ได้เรียนรู้จากประสบการณ์ เขาจะรวบรวมบทเรียนที่มีประโยชน์จากความล้มเหลวและความสำเร็จของบุคคลอื่นที่ได้ยินได้ฟังมา
2. ความสามารถในการเข้าใจ (Intelligence) ความรอบคอบเรียกร้องให้เราเข้าใจอย่างลึกซึ้งในเนื้อหาของสิ่งที่เรากำลังกระทำอยู่ และเลือกใช้วิธีการที่เหมาะสมที่สุดเพื่อถ่ายทอดความรู้นั้นให้กับนักเรียน
3. ว่านอนสอนง่าย (Docility) ครูที่ดีจึงไม่ควรไว้วางใจในความคิดความสามารถของตนและจะไม่ดำเนินการใด ๆ ที่มีความสำคัญโดยไม่ปรึกษาบุคคลที่ควรหารือ
4. ทักษะ (Skill) เป็นเรื่องการดำเนินโครงการที่ได้ตัดสินใจแล้วให้บรรลุผล ความรอบคอบในเรื่องนี้ทำให้ครูมักเลือกวิธีการที่เหมาะสมกับตนมากที่สุด
5. การมีเหตุผล (Reasoning) หมายถึงศิลปะของการใช้เหตุผลอย่างถูกต้องและหลีกเลี่ยงข้อผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นได้ ครูที่มีความรอบคอบควรต้องมีเหตุผลมากกว่าผู้อื่น เพื่อนักเรียนจะไม่สามารถโต้แย้งในเนื้อหาวิชาที่ครูสอนได้
6. การมองการณ์ไกล (Foresight) ความรอบคอบช่วยให้ครูคิดล่วงหน้าว่าวิธีที่จะเลือกใช้จะเกิดผลดีหรือไม่ เพื่อจะเลือกใช้หรือไม่เลือกใช้ด้วยความมั่นใจ
7. ความระมัดระวัง (Circumspection) ครูที่รอบคอบจะยังไม่ดำเนินการใด ๆ จนกว่าจะพิจารณาอย่างถี่ถ้วนในสิ่งที่จะกระทำ เขาจะเลือกวิธีการที่เหมาะสมที่สุด โดยคำนึงถึงเวลา สถานที่ การจัดการ และบุคคล
8. ข้อควรระวัง (Precaution) ครูที่มีความรอบคอบจะไม่ลงโทษนักเรียนถ้าไม่มีพยานบุคคลและครูจะไม่อยู่กับนักเรียนตามลำพัง เว้นเสียแต่จะอยู่ในสถานที่คนอื่นรู้เห็นได้ เพราะนักเรียนอาจกล่าวหาครูในสิ่งที่ครูไม่ได้กระทำผิด การหย่อนความรอบคอบมี 2 สาเหตุ คือ ความบกพร่อง และความรอบคอบเกินความจำเป็น
ประการแรก เป็นความบกพร่องที่เกิดจากการเร่งรีบเกินไป การเลินเล่อไม่ใส่ใจ ไม่จริงจังในการทำงาน ละเลยงานที่รับผิดชอบ ยึดมั่นในความคิดของตนมากเกินไป
ประการสอง เป็นความรอบคอบที่ไม่แท้ เป็นการตัดสินจากความรู้สึกโดยไม่คำนึงถึงความเป็นจริง พึงพอใจในความรักที่จอมปลอม เลือกใช้เล่ห์เหลี่ยม การหลอกลวง หรือกลยุทธ์ เพื่อให้งานประสบผลสำเร็จ
คุณธรรมข้อที่ 5 ปรีชาญาณ (Wisdom)
ปรีชาญาณ เป็นคุณธรรมที่ช่วยเราให้เข้าใจในสิ่งสูงส่งที่ล้ำค่าจากหลักศีลธรรม ที่ดีงามที่สุด
ปรีชาญาณ (Wisdom) แตกต่างจากความรอบคอบ (Prudence) เพราะความรอบคอบหมายเพียงการคาดหวังสัมฤทธิ์ผลที่น่าชื่นชม ไม่ว่าผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร แต่ปรีชาญาณพิจารณาวัตถุสิ่งของ ไม่เพียงเฉพาะที่คุณธรรมความถูกต้องและน่ายกย่อง แต่คำนึงถึงความสำคัญและความหมายของสิ่งนั้นด้วย
เพื่อให้การสอนมีประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น ปรีชาญาณเรียกร้องให้ครูประพฤติปฏิบัติคุณธรรมที่ครูสอนเป็นแบบอย่างควบคู่กันไปกับคุณธรรมที่ครูจะปลูกฝังให้นักเรียน
คุณลักษณะที่ตรงข้ามกับคุณธรรมแห่งปรีชาญาณ
1. การเลือกปฏิบัติเพียงเพื่อทำให้มนุษย์พึงพอใจมากกว่าจะปฏิบัติคุณธรรมเหนือธรรมชาติ
2. เต็มใจอุทิศตนเองในงานสอนซึ่งจะทำให้เด็กนิยมชมชอบในตัวเรามากกว่า
สอนสิ่งที่จะปลูกฝังคุณธรรมความดีในจิตใจของนักเรียนหรือเลือกที่จะรักษาสัมพันธภาพที่ดีกับนักเรียนมากกว่าจะแก้ไขข้อบกพร่องของพวกเขา
คุณธรรมข้อที่ 6 ความอดทน (Patience)
ความอดทน เป็นคุณธรรมที่ช่วยเราให้ชนะสิ่งที่ไม่ดีต่าง ๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิตโดยไม่พร่ำบ่น โดยเฉพาะการดูแลเยาวชนซึ่งจำเป็นต้องกระทำควบคู่ไปกับการอบรมพวกเขา
ความอดทน เป็นคุณธรรมที่จำเป็นและมีประโยชน์ เพราะช่วยให้เราเข้าใจความทุกข์ยากและเมื่อเราอดทนจึงดูเหมือนความทุกข์ยากอยู่กับเราในระยะเวลาที่สั้นลง
ความอดทน ทำให้เราสามารถยับยั้งชั่งใจ ไม่กระทำในสิ่งไม่ถูกต้อง และไม่ล่วงละเมิดสิทธิผู้อื่น ช่วยให้เขาสามารถควบคุมอารมณ์ได้ในภาวะยากลำบาก
ในทางตรงข้าม หากเราไม่อดทนและทำด้วยความรีบร้อนจะทำให้โครงการที่วางไว้ด้วยความรอบคอบ ไร้ค่า
ความอดทนบรรเทาทุกข์ทรมาน และทำให้ใจสงบ จึงทำให้เราไม่เศร้าเสียใจ ไม่กล่าววาจาไม่สุภาพ ไม่แสดงความอาฆาตแค้น ไม่อารมณ์เสีย ไม่ท้อแท้ ไม่กังวล
ความอดทน โดยทั่วไปที่ได้กล่าวมาแล้วเป็นคุณสมบัติเหมาะสำหรับครูที่ดี เพราะครูอยู่กับนักเรียนเกือบตลอดเวลา คุณธรรมข้อนี้ช่วยแก้ปัญหาความคิดเห็นไม่ตรงกันหรือกรณีที่ไม่น่ารื่นรมย์ที่เกิดขึ้นในงานอาชีพ ครูจะต้องไม่รู้สึกผิดหวังหรือหดหู่ใจกับความคิดแปลก ๆ เรื่องตลกล้อเล่น หรือกิริยาที่ไม่สุภาพของนักเรียนหรือผู้ปกครอง ครูจะเพียงรู้สึกเสียใจกับพฤติกรรมที่นักเรียนแสดงออก เพราะขาดวุฒิภาวะ มีความสับสนและการขาดประสบการณ์ ครูไม่ควรหมดกำลังใจหรือเหนื่อยล้าที่จะพูดเรื่องเดียวกันซ้ำหลายครั้ง แต่จะยินดีอธิบายเพราะความดีและความรักเพื่อให้นักเรียนจดจำสิ่งที่ถูกต้อง แม้นว่าจะเป็นภาวะที่ยากลำบากและน่าเบื่อเพียงใดสำหรับครู ทั้งนี้เพราะเป็นความจริงที่ว่าหากครูอบรม ตักเตือน ทัดทาน และแก้ไขนักเรียนแล้ว ครูก็จะประสบผลสำเร็จในที่สุด ความคิดที่ถูกต้องและมีเหตุผลที่ครูแสดงให้นักเรียนเห็นสม่ำเสมออย่างต่อเนื่องเริ่มหยั่งรากลึก สร้างศรัทธาและสำนึกแห่งการเป็นผู้มีคุณธรรม หลักการของความซื่อสัตย์ ยุตธรรม และเที่ยงตรง จะฝังในจิตใจโดยไม่รู้ตัว
คุณลักษณะที่ตรงข้ามกับคุณธรรมข้อนี้ คือ การที่ครูปฎิเสธนักเรียน โดยการแสดงความไม่พอใจ การใช้วาจาที่หยาบคาย กิริยากระด้าง ใช้ภาษาห้วนไม่น่าฟัง แสดงพฤติกรรมรุนแรงเกินความจำเป็น ตีนักเรียนด้วยมือหรือไม้เรียว หรือตั้งท่าทำโทษนักเรียนอย่างไม่ยุติธรรม เพราะครูไม่สามารถควบคุมอารมณ์ตนเอง หรือทำอย่างหุนหันพลันแล่น โดยไม่ใช้เวลาคิดทบทวนก่อนพูดหรือก่อนกระทำการใด ๆ
คุณธรรมข้อที่ 7 การรู้จักวางตัว (Reserve)
การรู้จักวางตัว เป็นคุณธรรมที่ช่วยให้คิด พูด หรือกระทำกิจกรรมใดด้วยความนิ่มนวล (moderation) ไตร่ตรองอย่างระมัดระวัง (discretion) และถ่อมตน (modesty)
ความอดกลั้น ช่วยให้เรายืนหยัดเมื่อเผชิญกับความยากลำบาก แต่การรู้จักวางตัวทำให้เราไม่ทำกิจการไม่ดีไม่ว่าจากภายในหรือภายนอก
การรู้จักวางตัว จึงหมายรวมถึงการควบคุมตัวเราในสถานการณ์ที่เรารู้สึกโกรธหรือวุ่นวายใจ เพื่อไม่ให้เราแสดงความรู้สึกที่ไม่เหมาะสม
คุณธรรมประการนี้ ช่วยเราให้ควบคุมพฤติกรรมด้วยความระมัดระวัง เพื่อนักเรียนจะไม่สังเกตเห็นการกระทำที่ไม่ควรเลียนแบบของครู
คุณธรรมการรู้จักวางตัว ทำให้เราต้องหลีกเลี่ยงมิตรภาพและสัมพันธภาพที่ไม่สมควรกับเด็ก ๆ ไม่กอดเด็ก ๆ หรืออนุญาตให้นักเรียนสวมกอดครู ผลของการรู้จักวางตัว เช่นเดียวกับความสง่าน่าเกรงขาม คือนักเรียนจะประทับใจในตัวครู นักเรียนจะรู้จักวางตนเหมาะสมเช่นครู
คุณธรรมข้อที่ 8 ความอ่อนโยน (Gentleness)
ความอ่อนโยน เป็นคุณธรรมที่น้อมนำ (inspire) เราสู่ความดี ความรู้สึกไว และความนุ่มนวล
ความอ่อนโยนมีรูปแบบที่แตกต่างกัน 4 ประการ
1. เป็นเรื่องของความคิดหรือเหตุผล (mind) เป็นการพิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วน ช่วยให้เราไม่ตัดสินโดยใช้อารมณ์ ไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวและไม่ถือว่าตนอยู่ในตำแหน่งสูงกว่า
2. เป็นเรื่องของจิตใจหรือความรู้สึก (heart) ซึ่งช่วยเราให้แสวงหาสิ่งใดสิ่งหนึ่งด้วยวิธีการที่เที่ยงธรรม ไม่เกิดจากการบังคับ
3. เป็นเรื่องของการแสดงออก (manner) เป็นการปฎิบัติตามกฎข้อบังคับที่ดีงามโดยเคร่งครัด ไม่ทำให้ผู้ที่ไม่ได้อยู่ในความรับผิดชอบของเราต้องปรับตัวตามความต้องการของเรา
4. เป็นเรื่องของการกระทำ (Conduct) ซึ่งจะช่วยเราให้ประพฤติตนด้วยความเรียบง่ายและเที่ยงธรรม ไม่ขัดแย้งผู้อื่นโดยไม่จำเป็นหรือไม่มีเหตุผลสมควร
คุณลักษณะที่แตกต่างกันของความอ่อนโยนทั้ง 4 ประการดังกล่าวข้างต้น จำเป็นต้องปฏิบัติด้วยความจริงใจ ดังที่นักบุญฟรังซิส เดอ ชาร์ล กล่าวไว้ว่า “อุบายที่ยิ่งใหญ่ของศัตรูข้อหนึ่งคือการหลอกลวงตนเองด้วยการแสดงออกภายนอกไม่ตรงกับความรู้สึกภายในจิตใจ บุคคลเหล่านี้มักคิดว่าตนเองมีความสุภาพอ่อนโยนโดยมองไม่เห็นการเสแสร้งภายในใจ”
คุณธรรมความอ่อนโยน ถือว่ามีความสำคัญ และถ้าเรามีคุณธรรมความอดทนร่วมด้วย ก็นับได้ว่าเราจะเปี่ยมไปด้วยความกรุณา ผลดีคือ
1. เราจะเป็นคนโกรธช้า ลดความแค้นเคือง ช่วยให้เราเผชิญกับความทุกข์ยาก ความผิดหวังและสิ่งไม่ดีต่าง ๆ ที่เกิดกับเราด้วยจิตใจสงบ
2. ทำให้เราสามารถชนะใจนักเรียน เป็นไปตามกฎเกณฑ์ที่ใช้ควมรักชนะใจผู้อื่น ซึ่งครูจำเป็นต้องให้ความสำคัญของคุณธรรมข้อนี้เป็นพิเศษ ครูควรอุทิศตัวเป็นดั่งพ่อแม่ ที่วางใจมอบนักเรียนให้อยู่ในความดูแลรับผิดชอบ
มีแนวทางอื่นอีก ที่ครูจะสามารถใช้ความอ่อนโยนเป็นแนวทางให้นักเรียนเคารพรักได้ โดย
1. ครูจะเริ่มต้นด้วยการพยายามหลีกเลี่ยงการตอกย้ำถึงข้อบกพร่องที่ครูพบในความประพฤติของนักเรียน เช่น การใช้กิริยาหยาบคาย หรือ ไม่สุภาพ
2. เพื่อให้นักเรียนอยู่ในระเบียบวินัย ครูจะไม่ออกเกณฑ์ที่เคร่งครัดเกินไป และพึงกำหนดเป็นข้อควรปฎิบัติแทนข้อห้ามปฏิบัติ
3. การสอนของครูควรใช้วิธีการที่เรียบง่าย อดทน และเสมอต้นเสมอปลาย ครูจะต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเป็นตัวอย่างแก่นักเรียน มากกว่าที่จะเคร่งครัดให้นักเรียนปฏิบัติตาม
4. ครูควรปฏิบัติต่อนักเรียนอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ลำเอียง ไม่ให้สิทธิหรือให้ความสนใจนักเรียนคนหนึ่งคนใดเป็นพิเศษ
5. ครูจะไม่มองข้ามหรือละเลยในความผิดที่จะเป็นจะต้องอธิบายให้นักเรียนเข้าใจด้วยท่าทีที่ระมัดระวังและอ่อนโยน ขณะที่แก้ไขข้อบกพร่องของนักเรียน ครูจะไม่แสดงความขุ่นเคือง ก้าวร้าว หรือเหยียดหยามนักเรียนและทันทีที่ได้ลงโทษนักเรียนคนหนึ่งแล้ว ครูจำเป็นต้องชี้แจงเหตุผลเพื่อไม่ให้นักเรียนกลัวการถูกทำโทษ ครูจะอธิบายถึงความผิดที่นักเรียนทำและเหตุผลที่สมควรได้รับโทษและตักเตือนนักเรียนไม่ให้กระทำผิดซ้ำ
6. การประพฤติตนเสมอต้นเสมอปลายของครู เป็นความจำเป็นมากกว่าสิ่งอื่น หากแม้นแต่ละวันครูมีอารมณ์และกิริยาท่าทางที่ไม่เหมือนเดิม นักเรียนไม่สามารถคาดเดาอารมณ์ของครูได้ และทำให้นักเรียนลดความเคารพในตัวครูลง นักเรียนจะยังรู้สึกว่าอารมณ์ที่ผันแปรของครูเป็นสิ่งที่ไร้สาระ รู้สึกอึดอัดใจ และมีความเป็นไปได้ว่าจะมีผลทำให้นักเรียนเบื่อการมาโรงเรียน หรือทำให้ยากที่จะชักชวนให้นักเรียนสนใจในการเรียน
7. เมื่อนักเรียนสมควรได้รับคำชม ครูควรกล่าวคำชมอย่างเหมาะสม แม้อาจเสี่ยงต่อการทำให้นักเรียนทะนงตัว ก็ยังจำเป็นที่ครูควรใช้การชมเพื่อกระตุ้นนักเรียนให้ทำดี
8. ทุก ๆ วัน ครูควรเล่าให้นักเรียนฟังถึงข้อศีลธรรมที่ควรปฏิบัติ เพื่อเป็นแนวทางให้นักเรียนก้าวหน้าในการดำเนินชีวิตคริสตชนที่มีคุณค่า
เพื่อจะกล่อมเกลาจิตใจ ครูจะต้องควบคุมอารมณ์และระมัดระวังความผิดพลาด โดยใช้ความน่ารังเกียจและความน่ากลัวของโอกาสบาปเป็นแรงจูงใจ และชักจูงนักเรียนให้เห็นคุณค่าของคุณธรรม
เพื่อฝึกฝนสติปัญญา ครูจะต้องแนะนำนักเรียนด้วยความรักและด้วยความมุมานะเป็นอย่างยิ่งถึงข้อคำสอนและหน้าที่ต่อศาสนา และสิ่งที่จะช่วยให้พวกเขาสามารถดำเนินชีวิตอย่างมีเหตุผลเพื่อให้บรรลุเป้าหมายข้างต้น
1. ครูจำเป็นต้องคิดและพูดกับนักเรียนถึงสิ่งที่ถูกต้องและด้วยเหตุผล
2. ครูควรชี้ให้นักเรียนได้เห็นข้อผิดพลาดของพวกเขาและร่วมกันแก้ไขให้ถูกต้อง
เมื่อใดที่นักเรียนตัดสินใจไม่ถูกต้อง พูดในสิ่งที่ไร้สาระ ครูก็จะชี้แจงด้วยเหตุผลให้นักเรียนได้เข้าใจและปรับเปลี่ยนทัศนคติให้ถูกต้อง
เพื่อฝึกฝนการตัดสินใจ ครูจะชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของสิ่งต่าง ๆ และสอนให้รู้จักสังเกตความแตกต่างในรายละเอียด ครูจะให้นักเรียนได้บรรยายสิ่งเหล่านี้ตามความเข้าใจของนักเรียนก่อนที่ครูจะแก้ไขให้ถูกต้องและชัดเจน ความเข้มงวดของครูเป็นสาเหตุหนึ่งทำให้ครูจะไม่สามารถบรรลุเป้าหมายได้ เมื่อครูสั่งให้นักเรียนทำในสิ่งที่เกินความสามารถของเขา เช่น ครูมอบหมายให้นักเรียนท่องจำบทเรียนที่ยากเกินสติปัญญาจะรับได้ หรือใช้บทลงโทษรุนแรงเกินความผิดพลาดของนักเรียน
การใช้คำสั่งแบบเผด็จการของครู ไม่สามารถโน้มน้าวให้นักเรียนปฏิบัติตาม นักเรียนจะเกิดความรู้สึกว่าถูกบีบบังคับให้ทำในสิ่งที่ไม่มีแรงจูงใจที่ดี โดยครูไม่ใส่ใจในความเป็นจริงที่ว่านักเรียนไม่พร้อมที่จะตอบสนองความพยายามที่กระตือรือร้นของครู
การไม่รู้จักผ่อนหนักผ่อนเบาของครู เป็นอุปสรรคสำคัญอีกประการหนึ่งที่จะทำให้ครูไม่สามารถบรรลุเป้าหมายได้ เช่น เมื่อครูคาดหวังให้นักเรียนใช้ความบากบั่นกระทำสิ่งที่สำคัญน้อยเท่า ๆ กับสิ่งที่สำคัญมาก เมื่อครูไม่เคยฟังคำขอร้องหรือเหตุผลของนักเรียน แม้ในบางเรื่องที่มีเหตุผลสมควรให้อภัย
การปฏิบัติของครูในเรื่องดังกล่าวอาจทำให้นักเรียนหมดกำลังใจในการทำงาน และอาจนำไปถึงการมองไม่เห็นถึงความแตกต่างของสิงที่ดีและไม่ดี และอาจจะทำให้นักเรียนเรียกร้องความยุติธรรมจากครูได้
ครูควรมีความเชื่อมั่นว่า
1. การลงโทษ ช่วยแก้ไขข้อผิดพลาดได้ไม่ดีเท่ากับวิธีการคาดโทษ
2. คำขู่โดยไม่มีการยืดหยุ่นและด้วยความรุนแรงของครู ทำให้นักเรียนกลัว มีผลกระทบต่อจิตใจเด็ก ทำให้เด็กสูญเสียความภาคภูมิใจ ความเชื่อมั่น ทำให้เบื่อโรงเรียนและการเรียน
3. หากครูไม่ยกโทษให้นักเรียนบ้างในบางกรณี การแก้ไขข้อบกพร่องของนักเรียนก็จะไม่เกิดประโยชน์
4. ด้วยวิธีการผ่อนหนักผ่อนเบา ครูสามารถชนะใจนักเรียน โดยหลีกเลี่ยงการใช้คำพูดที่ไม่น่าฟังซึ่งมีแต่จะทำให้นักเรียนรู้สึกขุ่นเคืองใจ
5. ครูจะไม่ประสบผลสำเร็จในการทำให้นักเรียนเกรงใจได้ นอกจากจะสร้างจิตสำนึกของบาปบุญคุณโทษ ความยำเกรงพระเจ้าและมาตรการลงโทษ หากนักเรียนยังไม่ใส่ใจในสิ่งเหล่านี้ นักเรียนจะไม่เชื่อถือในตัวครู
คุณธรรมข้อที่ 9 ความกระตือรือร้น (Zeal)
ความกระตือรือร้น เป็นคุณธรรมที่ช่วยเราให้เพียรพยายามทำให้พระสิริรุ่งโรจน์ของพระเป็นเจ้า ได้บังเกิดผลด้วยความรักที่ยิ่งใหญ่
1. ครูที่กระตือรือร้น จะสอนนักเรียนด้วยแบบอย่างที่ดีของครู เป็นอันดับแรก การปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างของครุ นักเรียนเรียนรู้ที่ได้จากการเห็นมากกว่าการได้ยิน
2. ครูสอนด้วยความตั้งใจจริง เพราะครูสอนนักเรียนในสิ่งไม่รู้และนักรียนจำเป็นต้องรู้ เพื่อว่าพวกเขาจะได้รู้จักได้รักและได้รับใช้พระ โดยปราศจากข้อสงสัย
3. ครูสอนนักเรียนอย่างฉลาดและลงโทษตามสมควร เป็นหน้าที่ของครูที่จะต้องค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงความไม่ดีให้ลดน้อยลง
ความคล่องแคล่ว เป็นลักษณะเฉพาะของคุณธรรมประการนี้ ครูที่ดีไม่สามารถบรรลุผลตามหน้าที่ได้เพียงด้วยความร้อนรนและความมุ่งมั่น แต่จะต้องมีความกระตือรือร้นอย่างแท้จริง เช่น
1. ศาสนาที่ครูยึดประจำใจ ครูต้องปฏิบัติตนเคร่งครัดในศาสนากิจตามคุณสมบัติที่ได้กำหนด โดยเฉพาะในเรื่องการภาวนาประจำวัน การตรวจสอบมโนธรรมและการมุ่งมั่นปฏิบัติตนตามกฎเกณฑ์อย่างเคร่งครัด
2. ความรับผิดชอบที่จะอบรมความรู้แก่นักเรียน ครูจะพึงพอใจและยินดีที่จะสอนนักเรียนทุกคนโดยไม่ละเลยต่อหน้าที่รับผิดชอบ ไม่คำนึงถึงความแตกต่าง ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง แม้ว่านักเรียนจะไม่ฉลาด เฉื่อยชา ไร้เดียงสา ร่ำรวยหรือยากจน
คุณธรรมข้อที่ 10 การระวังตัว (Vigilance)
การระวังตัว เป็นคุณะรรมที่ทำให้เราบากบั่นพากเพียร และอุตสาหะที่จะทำหน้าที่อย่างสมบูรณ์
ครูควรระมัดระวังตนเอง ได้แก่ ระวังความคิด ความต้องการในใจ การใช้วิจารณญาณและระวังในเรื่องอื่น ๆ เพื่อว่าครูจะกระทำแต่สิ่งที่ดีและทำตามหน้าที่อย่างสมบูรณ์
ครูควรระวังตัวในการปฏิบัติต่อนักเรียน เพราะครูเปรียบเสมือนเป็นเทวดาคุ้มครองป้องกันนักเรียน หากครูละเลยหรือไม่เอาใจใส่นักเรียนก็เท่ากับปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ไม่ดี
กรณีนี้อาจสรุปได้ว่า
1. ครูที่ดี จะไม่ปล่อยนักเรียนไว้ในห้องเรียนตามลำพัง โดยหวังว่าเพื่อนครูข้างห้องจะช่วยดูแลระเบียบของโรงเรียนได้พร้อมทั้ง 2 ห้อง
2. ระหว่างที่ครูอยู่ในห้องเรียน ขอให้ครูสังเกตความเป็นไปรอบ ๆ ห้อง เพื่อให้ได้รู้เห็นทุกสิ่ง ด้วยวิธีนี้ครูทำให้นักเรียนอยู่ในระเบียบ
3. ครูที่ดี จะเฝ้าสังเกตท่าทีและความประพฤติโดยทั่วไปของนักเรียนทุกที่ที่ครูได้อยู่กับนักเรียน ครูจะกระทำอย่างรอบคอบ เพื่อไม่ให้นักเรียนรู้สึกว่าพวกเขากำลังถูกสำรวจ
คุณธรรมข้อที่ 11 ความเลื่อมใสศรัทธา (ต่อพระ) (Piety)
ความเลื่อมใสศรัทธา เป็นคุณธรรมที่ช่วยเราให้ทำหน้าที่ต่อพระ ให้สมบูรณ์อย่างมีคุณค่า กระทำกิจการต่าง ๆ ด้วยความเคารพและกระตือรือร้น
ความเลื่อมใสศรัทธา จะต้องเกิดจากความรู้สำนึกในจิตใจและด้วยความจริงใจ มิฉะนั้นแล้ว เขาก็จะเป็นดังผู้เสแสร้งคนหนึ่ง นอกนั้นความเลื่อมใสศรัทธาของครูจำเป็นต้องแสดงออกให้เห็นภายนอกด้วยการปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดี
ครูจะต้องสอนนักเรียนถึงความสำคัญของการสวดภาวนา
ครูจะอธิบายให้นักเรียนได้เข้าใจดี ถึงคุณค่าของข้อคำสอน การสวดภาวนา และชีวิตในเรื่องต่าง ๆ ได้แก่ความเชื่อศรัทธา ความหวัง เมตตากิจ ความยุติธรรม ความดี ความซื่อสัตย์ ปรีชาญาณ ความรอบคอบ ความอดทน การควบคุมอารมณ์ ความสุภาพในการใช้คำพูด และท่าทีที่แสดงต่อผู้อื่น ความเคารพและหน้าที่ต่อเจ้าหน้าที่รัฐ
คุณธรรมข้อที่ 12 ความใจกว้าง (Generosity)
ความใจกว้าง เป็นคุณธรรมที่ช่วยเราให้ยินดีเสียสละประโยชน์ส่วนตัว เพื่อทำตามความต้องการของเพื่อนพี่น้อง
การเสียสละ เกิดจากความเต็มใจ และเป้าหมายของการเสียสละเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่ เป้าหมายของผู้มีใจกว้างคือผลของการเสียสละที่ยิ่งใหญ่ ความใจกว้างเป็นความสูงส่งมากกว่าความรู้สึกอื่น ๆ เป็นแรงผลักดันให้เกิดกิจการดีที่น่ายกย่อง และบางทีอาจเป็นรากฐานของ ผู้มีใจกว้างเป็นผู้เสียสละที่ยิ่งใหญ่ เป็นผู้ที่มีอิสระอย่างสมบูรณ์เพราะเขาได้อุทิศตนเองด้วยความเต็มใจเพื่อกระทำกิจการสำคัญบางอย่างที่น่ายกย่องให้กับเพื่อนพี่น้อง เช่น งานการสอนเด็ก ๆ โดยเฉพาะเด็กที่ยากจน
ผู้ที่ใจกว้าง คำนึงถึงผลประโยชน์ของเพื่อนพี่น้องเป็นสำคัญ เขาจึงไม่ได้ใส่ใจในผลตอบแทนฝ่ายโลกจากการกระทำนั้น เขาหวังเพียงเพื่อถวายพระเกียรติแด่พระเป็นเจ้า จึงได้สละตนเองเพื่อความดีของผู้อื่นอย่างสิ้นเชิง
ความใจกว้าง เป็นคุณธรรมสูงส่งของผู้มีใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ซึ่งอยู่เหนือความอยุติธรรมใด ๆ ไม่คิดแก้แค้น จะทำแต่ความดีเสมอ ไม่ทำความรำคาญ ความเบื่อหน่าย และมีความพยายามที่แน่วแน่มั่นคงที่ยืนหยัดต่อสู้กับความยากลำบากที่สุด เพื่อให้นักเรียนได้เติบโตอย่างเหมาะสม
ความใจกว้าง ที่เป็นคุณธรรมของครูที่ดี หมายรวมถึง สำนึกแห่งความยุติธรรมและมีเหตุผล
เพื่อจะมีคุณธรรมของความยุติธรรม ครูจะต้องประเมินค่าของงานให้สูงและปฏิบัติงานนั้นด้วยความรักโดยไม่ละเลยสิ่งใด ครูควรยินดีรับใช้เพื่อนพี่น้องและกระทำทุกอย่างเต็มความสามารถ เพิ่มการสอนให้มากขึ้น โดยไม่หวังผลตอบแทน ไม่มีแรงจูงใจอื่นใดที่จะให้ครูทุ่มเทเพื่อนักเรียน นอกจากเพื่อหวังให้นักเรียนได้รับผลประโยชน์และเพื่อพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเป็นเจ้า
แต่ครูอาจจะขาดคุณธรรมของความใจกว้าง หากครูยึดติดกับความสบายจนเกินควร โดยมีข้ออ้างว่างงานการสอนเป็นงานที่เหนื่อย หรือเป็นงานหนัก หากครูคำนึงถึงความพึงพอใจของตนเอง มากกว่าพัฒนาการเรียนรู้ของนักเรียน
ครูอาจล้มแหลว หากครูยินดีรับของขวัญจากนักเรียน เก็บของที่นักเรียนมอบให้ไว้กับครู ปรารถนาที่จะได้รับความพึงพอใจ คำสรรเสริญ หรือคำเยินยอจากนักเรียน
+ + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + +
หมายเหตุ:
- นักบุญยอห์น แบพติสท์ เดอ ลาซาล ผู้ก่อตั้งคณะภราดาลาซาล และเป็นองค์อุปถัมภ์ของครู
- คณะภราดาลาซาล (De La Salle Brothers) เดิมเรียกว่า คณะภราดาแห่งโรงเรียนวิถีคริสต์ (The Brothers of the Christian Schools) เป็นคณะนักบวชชายที่มีสมาชิกกระจายอยู่ทั่วโลกประมาณ 6,142 คน (ปี 2001/2544) และมีสถาบันการศึกษาอยู่ใน 80 กว่าประเทศ
+ + + + + + + + + + + + + + + +
ที่มาของข้อมูล:
โอกาสฉลองครบรอบ 60 ปี คณะภราดาลาซาลแห่งประเทศไทย
ภาพประกอบ: Facebook De La Salle Brothers - Thailand
+ + + + + + + + + + + + + + + +